หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

แนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจกจากการเลี้ยงปศุสัตว์

Contributed by สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ก๊าซมีเทน (CH4) เป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ถึงแม้ว่าสัดส่วนของก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศจะไม่สูงเท่ากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ร้อยละ ๑๘ เทียบกับร้อยละ ๔๙) แต่ก๊าซมีเทนนั้นมีความรุนแรงมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพราะสามารถดูดกลืนรังสีความร้อนได้ดีกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง ๒๕ เท่า สำหรับภาคเกษตร (ทั้งการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์) มีส่วนก่อให้เกิดก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศประมาณร้อยละ ๑๘ ส่วนใหญ่เกิดจากการทำนาข้าวและการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องจำพวกโค กระบือ แพะและแกะ ซึ่งมีการปล่อยก๊าซมีเทนออกมามากกว่าการเลี้ยงสัตว์ปีกและสุกร เนื่องจากสัตว์เคี้ยวเอื้องมีระบบการย่อยอาหารโดยการหมักในกระเพาะอาหารหรือที่เรียกว่า “Enteric fermentation” ส่งผลให้มีก๊าซมีเทนถูกปล่อยออกมาราวร้อยละ ๑๕ จากปริมาณก๊าซมีเทนทั้งหมดในชั้นบรรยากาศ จากข้อมูลของ FAO ที่คาดการณ์ไว้ว่าจำนวนประชากรโลกอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น ๙ พันล้านคน ภายในปี ค.ศ.๒๐๕๐ ซึ่งจะทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๗๐ โดยความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นถึง ๓ เท่าตัว (จาก ๑๓๓ ล้านตัน/ปี ในปี ๑๙๘๐ เพิ่มขึ้นเป็น ๔๕๒ ล้านตัน/ปี ภายในปี ๒๐๕๐) ส่วนความต้องการบริโภคนมอาจเพิ่มขึ้นกว่า ๒ เท่าตัว (จาก ๓๔๒ ล้านตัน/ปี ในปี ๑๙๘๐ เพิ่มขึ้นเป็น ๘๘๐ ล้านตัน/ปีภายในปี ๒๐๕๐) นั่นหมายถึง ผลกระทบที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบในระดับท้องถิ่นต่อแหล่งน้ำ อากาศและดิน รวมไปถึงผลกระทบในระดับโลกต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ การหาทางบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ จึงนับเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับภาคเกษตรที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการหาทางเพิ่มระดับผลผลิตเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร สำหรับหนทางที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเลี้ยงสัตว์ (โดยเฉพาะก๊าซมีเทนจากการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง) สามารถทำได้ผ่านการปรับปรุงการจัดการฟาร์มให้ดีขึ้น รวมทั้งสายพันธุ์สัตว์และคุณภาพอาหารสัตว์, การนำเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาใช้พัฒนาหรือปรับปรุงจุลินทรีย์ที่ควบคุมการทำงานของฮอร์โมนในระบบลำไส้ของสัตว์ให้ดีขึ้น, การใช้อาหารสัตว์หรือสายพันธุ์สัตว์ที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม (GM) นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนอาหารสัตว์โดยหันมาใช้อาหารสัตว์หรือพืชอาหารสัตว์แบบใหม่ (novel forages and feeds) และการเติมสารเพิ่มประสิทธิภาพลงในอาหารสัตว์จำพวกโปรไบโอติก จุลินทรีย์หรือสารสกัดจากพืช เพื่อปรับปรุงการทำงานของกระเพาะหมัก ก็มีส่วนทำให้ก๊าซเรือนกระจกจากการเลี้ยงสัตว์ลดลงด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ๑. การทดลองของมหาวิทยาลัย Aberystwyth ในแคว้นเวลส์ ที่แสดงว่า “อาหารสำหรับโคที่อุดมด้วยสารสกัดจากกระเทียม มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้” โดยทางบริษัท Neem Biotech ได้ทำการสกัดสารอัลลิซิน (Allicin) จากกระเทียมเพื่อนำมาใช้ผสมกับอาหารสัตว์ให้โคและแกะได้กิน โดยพบว่าสารสกัดจากกระเทียมนี้สามารถลดก๊าซมีเทนที่เกิดจากการผลิตของแบคทีเรียที่อยู่ ในระบบการย่อยอาหารของสัตว์ดังกล่าวได้ถึงร้อยละ ๒๐ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการหมักในกระเพาะอาหารของสัตว์ อีกทั้งยังพบว่ามีส่วนทำให้การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ลดลงอีกด้วย อย่างไรก็ดี อุปสรรคสำคัญที่อาจทำให้เกษตรกรลังเลใจในการนำแนวทางดังกล่าวมาใช้คือ สารสกัดจากกระเทียมมีผลต่อรสชาติของนมและผลิตภัณฑ์จากนม ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยการหยุดให้สารสกัดจากกระเทียมในช่วงสั้นๆก่อนที่จะมีการรีดนม หรือพัฒนาวิธีสกัด สารอัลลิซิลจากกระเทียมให้ดีขึ้น โดยไม่ทำให้รสชาติของนมเปลี่ยนไป ๒. ผลการทดลองวิจัยของ Reading University และ the Institute of Biological Environmental and Rural Sciences (IBERS) ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การอุดหนุนของกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหารและกิจการชนบท (Defra) แห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า “การเปลี่ยนแปลงอาหารสัตว์มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนและการขับถ่ายไนโตรเจนของวัวควายและแกะได้” เช่น - การเพิ่มสัดส่วนของข้าวโพดหมัก (maize silage) แทนหญ้า (grass silage) จากร้อยละ ๒๕ เป็นร้อยละ ๗๕ มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ร้อยละ ๖ ต่อนม ๑ ก.ก. - การให้หญ้าที่มีน้ำตาลสูง (high sugar grasses) ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ร้อยละ ๒๐ ต่อน้ำหนักของสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ๑ ก.ก. - Naked oats ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนของแกะได้ร้อยละ ๓๓ ส่วน Rapeseed ทำให้การปล่อยก๊าซมีเทนของโคนมลดลงร้อยละ ๒๐ ต่อนม ๑ ลิตร ผลการทดลองจากทั้ง ๒ มหาวิทยาลัยนี้ทำให้สามารถยืนยันได้ว่า ในระยะสั้นการปรับปรุงอาหารที่ใช้สำหรับเลี้ยงปศุสัตว์หรือการเติมสารเสริมในอาหารสัตว์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของกระเพาะหมักของสัตว์ มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลงได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ในอนาคตควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบในระยะยาวจากการปรับปรุงอาหารสัตว์ต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งความเป็นไปได้ในการนำมาใช้และภาระด้านต้นทุนต่อภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ ก) ในอนาคตภาคเกษตรกรรมต้องเผชิญกับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ ๒ ด้าน นั่นคือ ต้องเร่งการผลิตอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปด้วย สำหรับการเลี้ยงสัตว์จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อภาคเกษตรต่อไป เนื่องจากเป็นวิถีชีวิตของคนมากกว่า ๑.๓ พันล้านคนทั่วโลกและยังสร้างผลผลิตให้กับภาคเกษตรคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๔๐ จากทั้งหมด แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเลี้ยงสัตว์ก็เป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซมีเทนเนื่องจากการหมักในกระเพาะอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้องทำให้มีก๊าซมีเทนถูกปลดปล่อยออกมา และมีแนวโน้มว่าระดับความเข้มข้นของก๊าซมีเทนในชั้นบรรยากาศที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ตามความต้องการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เพราะฉะนั้น การวิจัยและพัฒนาของภาคเกษตรควรมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน โดยจะต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด (ดิน, น้ำ, อากาศ) ยกตัวอย่างเช่น การเลี้ยงปศุสัตว์ในทุ่งหญ้ากว้างจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่าการเลี้ยงแบบหนาแน่น อีกทั้งยังส่งผลดีต่อสภาพภูมิทัศน์และความหลากหลายทางชีวภาพ, การเพิ่มผลผลิตสัตว์ต่อหน่วยให้สูงขึ้น , การคัดเลือกพันธุ์สัตว์ที่มีสมรรถนะในการผลิตสูงขึ้น เติบโตเร็วและใช้อาหารสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น, การจัดการกับมูลสัตว์ และที่สำคัญ คือ การปรับปรุงโภชนาการอาหารสัตว์เพราะส่วนประกอบในอาหารมีผลอย่างมากต่อการหมักในกระเพาะอาหารสัตว์ และสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซมีเทนและแอมโมเนียที่ถูกปล่อยออกมาได้ ข) การปรับปรุงโภชนาการอาหารสัตว์สามารถทำได้โดยการเติมสารเสริมลงในอาหารสัตว์ เพื่อปรับปรุงการทำงานของจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยอาหารในกระเพาะสัตว์, การเสริมไขมันในอาหารโค ซึ่งจะทำให้โคได้รับพลังงานสูงขึ้นและมีผลต่อการปล่อยก๊าซมีเทน เนื่องจากไขมันมีคุณสมบัติยับยั้งการผลิตมีเทนในกระเพาะหมักของโค, การใช้อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดี (forages) ที่สามารถย่อยได้มากและเร็ว ซึ่งจะทำให้ปริมาณก๊าซมีเทนที่ผลิตและขับออกมาระหว่างการย่อยอาหารของสัตว์ลดลง นอกจากนี้ การใช้ระบบให้อาหารสัตว์ด้วยความแม่นยำสูง (precision feeding) โดยให้สารอาหารให้ตรงกับความต้องการของโคนมเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและการผลิตนม จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากมูลของโคได้ แต่ว่าการให้อาหารสัตว์ด้วยความแม่นยำสูงจะต้องอาศัยโมเดลทางโภชนาการที่มีความถูกต้องเพียงพอตรงกับความต้องการของสัตว์และการจัดการที่จะช่วยลดความผันผวนในการให้อาหารสัตว์ รวมทั้งการตรวจสอบองค์ประกอบแห้งและสารอาหารที่อยู่ในอาหารสัตว์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนที่เกิดจากการให้อาหารสัตว์มากจนเกินไป (over-feeding) อันจะมีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมูลสัตว์แล้ว ยังเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสัตว์เนื่องจากจากภาวะทุพโภชนาการอีกด้วย ค) สำหรับการเติมสารอัลลิซิน (allicin) ที่สกัดจากกระเทียมลงในอาหารสัตว์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากขบวนการหมักในกระเพาะอาหารสัตว์ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ เนื่องจากกระเทียมมีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราตามธรรมชาติ มีความปลอดภัยและมีราคาไม่แพง อีกทั้งไทยก็สามารถปลูกกระเทียมได้มาก แต่ผลผลิตส่วนใหญ่กลับมุ่งเน้นไปที่การบริโภคของมนุษย์มากกว่า การนำกระเทียมมาผลิตเป็นอาหารเสริมสำหรับสัตว์จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการผลิตกระเทียมของประเทศและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า แต่อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบในระยะยาวจากการเติมสารสกัดจากกระเทียมในอาหารสัตว์ทั้งต่อสุขภาพสัตว์และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาวิธีสกัดสารอัลลิซินที่จะไม่ส่งผลต่อรสชาติและกลิ่นของผลผลิตที่ได้จากสัตว์ ง) ทั้งนี้ หน่วยงานของไทยอาจพิจารณาแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มีความชำนาญการหรือความสนใจในเรื่องการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการผลิตอาหารสัตว์ เพื่อทำการวิจัยร่วมกัน ในการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตอาหารสัตว์ที่มีประสิทธิผลสูงสุด และเหมาะสมสำหรับสภาพการเลี้ยงปศุสัตว์ของไทยและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ที่มา : Thaieurope.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น