หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

ซื้อยามาฉีดเอง ต้องดู!

ที่มา http://amnuaycowtech.blogspot.com/ ได้ดูโฆษณา เครื่องดื่มบำรุงกำลังยี่ห้อหนึ่งที่มีคำในโฆษณาว่ามีวิตามิน บี 12 ล่าสุดมีโฆษณาตัวใหม่ออกมาที่พี่แอ็ด คาราบาวร้องเพลงท่อนหนึ่งว่า “ให้ดูที่ฉลาก ๆ “ ซึ่งประกอบกับการที่ผมได้ไปเห็นตู้ยาประจำฟาร์มหลายๆฟาร์มครับ มีขวดยาอยู่เยอะมากบ้างก็ใช้หมด บ้างก็ไม่หมด เหลือขวดละนิดอย่างละหน่อยแม้จะเป็นยาตัวเดียวกัน ยาบางขวดซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้เลยแต่ว่ายาเปลี่ยนสีแล้วครับหมดอายุแล้วก็มี น่าเสียดาย บทความฉบับนี้ผมจึงอยากนำเสนอการอ่านฉลากยาและเลือกใช้ยาอย่างถูกต้องตามคำแนะนำบนฉลาก และใช้เท่าที่จำเป็น ให้คุ้มค่ากับเงินที่ซื้อมามากที่สุดครับ ขั้นตอนแรก อ่านควรดูข้อมูลยาจากกล่องยา ยาบางอย่างฉลากจะอยู่ในกล่องอย่างมิดชิด เจ้าของร้านคงไม่ให้เราเปิดกล่องยานำฉลากออกมาอ่านก่อนซื้อหรอกใช่มั้ยครับ ข้อมูลเบื้องต้นในกล่องยาซึ่งจะคล้ายๆกับสติกเกอร์ที่ติดในขวดยาคือข้อมูลทั่วไปที่มีอย่างละเอียดในฉลากยา แต่สิ่งแรกที่อยากให้ดูคือดูว่ายามีทะเบียนหรือไม่ ดูวันหมดอายุของยาซี่งจะเขียนอย่างชัดเจนว่า ยาสิ้นอายุ : , วันสิ้นอายุ , หรือ ExP. Date จะได้ทราบว่ายานี้หมดอายุหรือยังหรือว่าใกล้หมดอายุแล้ว เราจะใช้ทันจนหมดหรือไม่ สำหรับยาบางชนิดที่เป็นขวดไม่มีกล่องหุ้มให้สังเกตุสีของยาว่ามีการเปลี่ยนสีหรือไม่ หากยาเปลี่ยนสีแสดงว่ายาหมดอายุ หรือโดนแสงแดดการเก็บรักษาไม่ถูกต้อง ยาบางชนิดจะมีการตกตะกอนเช่น ยาอม็อกซี่ ยาเพ็นสเตร็ป ให้ลองเขย่าแรงๆสัก4-5 รอบแล้วดูว่ายาละลายเป็นเนื้อเดียวกันหรือไม่ นี้เป็นข้อพิจาณาก่อนซื้อยาเบื้องต้นครับ ขั้นตอนต่อมาเมื่อซื้อยามาแล้วให้แกะฉลากยาออกมาอ่านให้เข้าใจก่อนใช้ยาครับ ซึ่งฉลากยาจะประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้ 1. ชื่อยา ซึ่งมีทั้งชื่อทางการค้า หรือชื่อยี่ห้อ เป็นชื่อที่ทางบริษัทผู้ผลิตเป็นคนตั้งชื่อ และชื่อสามัญทางยา ยกตัวอย่างยาในคน ชื่อทางการค้าว่าซาร่า ,ซีมอล.. ชื่อสามัญทางยาคือ พาราเซตามอล นั่นเองเพียงแต่ว่าเจ้ายาพารามันมีหลายบริษัทหรือหลายยี่ห้อเท่านั้นเองครับ แต่โดยส่วนมากแล้วคนมักจะจำชื่อทางการค้าได้เนื่องจากได้ยินในโฆษณาและในฉลากยาก็มักจะมีขนาดตัวอักษรใหญ่กว่าชื่อสามัญทางยาด้วย 2. เลขทะเบียนยา เรามักจะได้ยินกันว่า ยามีทะเบียน กับยาไม่มีทะเบียน สำหรับยามีทะเบียนนั้นมักจะมีข้อเสียคือมันแพง จึงมียาลอกเลียนแบบ หรือยาปลอมคือยาที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ไม่ได้มีการตรวจพิสูจน์คุณภาพ ความเป็นอันตรายใดๆ บางอย่างทำกันง่ายมากเขย่าๆหลังบ้านก็นำมาขายได้แล้วจึงมีราคาถูกมากแต่ไม่รับรองผลการใช้นะครับ วกมาเข้าเรื่องครับ คำว่า Reg.No หรือเลขทะเบียนที่ หรือทะเบียนยา เขาจะเขียนด้วยเลขทะเบียน เช่น 2F 35/50 ซึ่งมีความหมายดังนี้ตัวเลขหน้าตัวอักษร แสดงถึงจำนวนตัวยาสำคัญในยานั้น เลข 1 จะมีตัวยาออกฤทธิ์เพียงตัวเดียวส่วนเลข 2 จะมีตัวยาออกฤทธิ์ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป ตัวอักษรภาษาอังกฤษจะมีตั้งแต่ A-K , ยาสำหรับสัตว์จะนำหน้าด้วยอักษร D ,E หรือF ที่เหลือจะเป็นยาสำหรับคน หากเป็นอักษร D จะเป็นยาผลิตในประเทศ E เป็นยานำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศแล้วนำมาทำการแบ่งบรรจุ (repack)ในประเทศ F เช่นยาในตัวอย่างนี้จะเป็นยานำเข้าหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ ส่วนตัวเลขต่อจากภาษาอังกฤษจะเป็นลำดับที่ที่ได้รับอนุญาติให้ขึ้นทะเบียนตำรับยา และทับเลขท้ายด้วย ปี พ.ศ.ที่ขึ้นทะเบียนยา 3. ส่วนประกอบของยา จะบอกส่วนประกอบที่เป็นตัวยาออกฤทธิ์คือยาอะไร ซึ่งชื่อจะคล้ายกับชื่อสามัญทางยานั้นละครับ เช่นบอกว่าส่วนประกอบใน 1 ซีซี ประกอบด้วยยา 1.2 3. อะไรบ้าง ยาบางยี่ห้ออาจบอกส่วนประกอบใน 100 ซีซีก็ได้ครับตรงนี้อาจจะปวดหัวนิดหน่อยเพราะเป็นชื่อยาภาษาอังกฤษซะเป็นส่วนใหญ่ 4. สรรพคุณ ข้อบ่งใช้ของยา จะบอกอย่างกว้างๆว่ายาตัวนี้เหมาะสำหรับการรักษาหรือป้องกันโรคอะไร ใช้ในกรณีไหนได้บ้าง เหมาะกับเชื้อโรคตัวไหนได้ผลดี รักษาโรคในระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร หรือทางเดินปัสสาวะได้ผลดี 5. ขนาดและวิธีใช้ จะบอกว่าในสัตว์แต่ละชนิดไม่ว่าจะเป็น หมู หมา ไก่ วัว ควาย จะต้องใช้ยามากน้อยขนาดไหน คือฉีดกี่ซีซีต่อน้ำหนักตัวกี่กิโลกรัม ฉีดวันละกี่ครั้ง กี่วัน วิธีการใช้โดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เข้าเส้นเลือด หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือได้หลายวิธีก็ต้องปฎิบัติตามนะครับ 6. การหยุดยา จะบอกว่าต้องต้องหยุดใช้ยานี้กี่วันก่อนส่งโรงฆ่าสำหรับบริโภคเนื้อ หรือหยุดใช้ยากี่วันกี่มื้อรีดนมสำหรับโคนมหรือแพะนม อันนี้เราต้องคิดถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วยนะครับ 7. คำเตือน หรือข้อห้าม เช่นให้เขย่าขวดก่อนใช้ยา หรือห้ามใช้กับสัตว์ที่เป็นโรคใต หรือห้ามใช้ยาชนิดนี้ร่วมกับยาอีกชนิดหนึ่ง หรือห้ามผสมในไซริงค์เดียวกัน ห้ามใช้กับสัตว์ท้อง เป็นต้น ส่วนคำว่า“ยาอันตราย” นั้นหมายถึงว่าหากใช้ไม่ถูกต้องทั้งปริมาณและระยะเวลา อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เพราะฉะนั้นควรใช้ภายใต้คำแนะนำของสัตวแพทย์ ซึ่งประเภทของยานี้จะเขียนด้วยตัวอักษรสีแดงอ่านได้ชัดเจน 8. เลขที่ หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ ซึ่งมักใช้คำย่อเป็นภาษาอังกฤษ เช่น Lot No., Cont.No., Batch No. หรือ L,C,L/C,B/C แล้วตามด้วยเลขแสดงครั้งที่ผลิต 9. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ยาที่ผลิตในประเทศต้องมีชื่อผู้ผลิตจังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยาด้วย ในกรณที่เป็นยาผลิตในประเทศนำหรือสั่งเข้ามาต้องมีชื่อเมืองและประเทศที่ตั้งสถานที่ผลิตยา พร้อมทั้งชื่อของผู้นำหรือสั่งเข้ามาและจังหวัดที่ตั้งสถานที่นำ/สั่งยานั้น ๆ 10. การเก็บรักษา เช่นเก็บในที่เย็นหรืออุณหภูมิไม่มากกว่ากี่องศา ควรเก็บในที่พ้นแสง เก็บให้พ้นมือเด็ก เป็นต้น ซึ่งตรงนี้สำคัญมากเพราะหากเก็บรักษายาไม่ดีแล้วจะทำให้ยาเสื่อมคุณภาพเร็ว การรักษาไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง 11. วันหมดอายุ วันเดือนปีที่ผลิตยา มักมีคำย่อภาษาอังกฤษ Mfd. หรือ Mfg date. แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่ผลิต ยาบางชนิด เช่นยาปฏิชีวนะจะมีการระบุวันที่หมดอายุ โดยมีคำย่อว่า Exp.Date ซึ่งย่อมากจาก Expiration Data แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่ยานั้นหมดอายุ โดยมากแล้วยาที่นำเข้าจากต่างประเทศมักจะมีอายุการใช้ภายใน 2 ปีนับจากวันผลิต ส่วนยาที่ผลิตในประเทศไทยจะมีอายุการใช้งานก่อนหมดอายุนานกว่าครับ ถึงตอนนี้ทุกท่านคงจะทราบกันแล้วว่าฉลากหรือเอกสารกำกับยานั้น มีความสำคัญอย่างไร และให้ประโยชน์กับเรามากน้อยแค่ไหน อย่าลืมนะครับอ่านซักนิดก่อนซื้อ ดูให้ดีก่อนใช้ เพื่อประโยชน์ของตัวท่านเองครับ สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น