หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กสิกรไทยแนะจับตาธุรกิจอาหารสัตว์ครึ่งหลังปี 55 เผชิญปัจจัยเสี่ยงราคาวัตถุดิบ

 


altบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "ธุรกิจอาหารสัตว์ครึ่งหลังปี 2555 บริโภคและส่งออกอาเซียนยังเติบโต แต่ต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบ" ระบุว่า

ปัจจุบันธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศและการขยายของภาคปศุสัตว์ขนาดใหญ่แบบเข้มข้นขึ้น ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ การเติบโตอย่างรวดเร็วของสาขา Fast Food/Food Chain รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานที่ขยายช่องทางไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น นอกจากนี้แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ในกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวและพำนักในประเทศไทย ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการบริโภคเนื้อสัตว์ให้เพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ตลาดอาหารสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนนับเป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา เวียดนาม นอกจากนี้ธุรกิจอาหารสัตว์ของไทยยังขยายฐานการลงทุนไปยังประเทศในแถบอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจก็มีปัจจัยเสี่ยงในหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาด้านปริมาณและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศเป็นหลักโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่บางปีผลผลิตข้าวโพดลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ทนแล้งและให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน ส่งผลให้ผลผลิตในบางปีไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางด้านราคาต้นทุนวัตถุดิบที่มีความผันผวนซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ

ธุรกิจอาหารสัตว์ของไทยเป็นการผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศเป็นหลักถึงร้อยละ 94 โดยสัดส่วนปริมาณอาหารสัตว์ใช้ไปในไก่เนื้อและไก่ไข่เป็นหลักถึงร้อยละ 53 และสัดส่วนวัตถุดิบหลักได้แก่ข้าวโพด ผลิตภัณฑ์ข้าวและมันสำปะหลังถึงร้อยละ 60 โดยวัตถุดิบได้มาจากทั้งผลผลิตภายในประเทศและบางส่วนได้จากการทำการเกษตรแบบพันธสัญญา (Contract farming) เนื่องจากบางปีไทยผลิตวัตถุดิบได้ไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ซึ่งสถานการณ์อาหารสัตว์ของไทยในช่วงต้นปี 2555 พบว่าปริมาณความต้องการอาหารสัตว์สำเร็จรูปช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 18.3 เนื่องจากผู้ประกอบการมีการปรับระบบเลี้ยงสัตว์ที่ดีขึ้น ลดความสูญเสียจากปัญหาโรคระบาดในสัตว์ ทำให้ประชากรสัตว์เพิ่มขึ้น และแนวโน้มความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัว ส่งผลต่อการเติบโตของความต้องการอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความต้องการใช้อาหารสัตว์ขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยความต้องการอาหารสัตว์มีแนวโน้มเติบโตตามความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีรองรับอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งออกสินค้าปศุสัตว์สำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์ไก่ ยังมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างดี อย่างไรก็ตามอาจได้รับแรงกดดันด้านราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบรายใหญ่ ซึ่งถ้าทิศทางราคาวัตถุดิบสูงขึ้นไม่ยาวนาน และหากไม่มีปัจจัยใดที่มากระทบต่อภาพรวมของธุรกิจอาหารสัตว์อย่างรุนแรง ก็คาดว่าธุรกิจอาหารสัตว์ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประมาณการว่าความต้องการใช้อาหารสัตว์ในปี 2555 อาจมีปริมาณ 15.0-15.5 ล้านตัน ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.0-8.0 และมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2548-2554 ที่ร้อยละ 5.4 โดยเป็นการใช้วัตถุดิบหลักคือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอาหารสัตว์ที่ใช้เป็นการใช้ไปในไก่เนื้อและไก่ไข่เป็นหลัก โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนี้
 การขยายตัวเพิ่มขึ้นของภาคปศุสัตว์ จากการวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน มีกระบวนการควบคุมและเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งราคาเนื้อสัตว์ที่อยู่ในเกณฑ์ดี เพื่อรองรับความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มอายุ (โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ทั้งหญิงและชายบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่าคนในต่างจังหวัด) และความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ในกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวและพำนักในประเทศไทย
 จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและการเพิ่มขึ้นของรายได้ เนื่องจากอาหารเป็นสิ่งจำเป็นของผู้บริโภคทุกคน ดังนั้น จำนวนประชากรจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่แสดงถึงโอกาสของปริมาณผู้บริโภค ตลอดจนรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคยังแสดงถึงความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าบริโภคที่เพิ่มขึ้นด้วย
 การเติบโตอย่างรวดเร็วของสาขา Fast Food/Food Chain รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานที่ขยายช่องทางไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น จากไลฟสไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ และการขยายของวิถีชีวิตความเป็นเมืองมากขึ้นเน้นความสะดวกสบาย ทันสมัย โดยมีการนำเนื้อสัตว์มาขายในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น แต่อาจมีราคาแพงกว่าตลาดสดเล็กน้อย แต่เน้นเนื้อสัตว์อนามัยมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องใส่ใจเรื่องคุณภาพอาหารสัตว์มากขึ้น เช่น อาหารสัตว์ premium เพื่อให้ได้สุขภาพสัตว์เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล
 การชะลอการปรับขึ้นราคาอาหารสำเร็จรูป โดยรัฐบาลได้ออกประกาศราคาจำหน่ายปลีกแนะนำอาหารปรุงสำเร็จ ในร้านอาหารธงฟ้า/ร้านอาหารทั่วไป/ศูนย์อาหารในอาคารสำนักงาน/ศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้า เพื่อดูแลค่าครองชีพของผู้บริโภค (เนื่องจากเนื้อสัตว์และอาหารสัตว์เป็นสินค้าควบคุมจากกระทรวงพาณิชย์) ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจอาหารสัตว์ในช่วงครึ่งปีหลัง ที่คาดว่าจะทำให้ผู้บริโภคยังคงมีความสามารถในการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างต่อเนื่อง
 เทศกาลสำคัญๆในช่วงครึ่งปีหลัง จะกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ เช่น เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ที่จะมีการบริโภคอาหารเพื่อเฉลิมฉลองกันอย่างคึกคัก ส่งผลต่อผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ต้องเร่งการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวด้วย
 แนวโน้มการส่งออกเนื้อสัตว์ที่ขยายตัว จากการที่สหภาพยุโรป หรือ EU ยกเลิกห้ามนำเข้าไก่สดของไทย และเนื้อไก่มีแนวโน้มเติบโตตามการรุกขยายตลาดส่งออกของผู้ประกอบการรายใหญ่ ตลอดจนไทยยังมีโอกาสส่งออกเนื้อไก่ในเม็กซิโกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกิดการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกทางตอนใต้ของเม็กซิโก ทางการจึงสั่งฆ่าไก่แล้วกว่า 8 ล้านตัว และรัสเซียมีแนวโน้มการนำเข้าไก่จากไทยมากขึ้น จากการที่รัสเซียรับรองมาตรฐานโรงงานผลิตภัณฑ์ไก่จากไทยในช่วงเดือนเมษายน 2555 อาจส่งผลต่อความต้องการใช้อาหารสัตว์ไทยที่เพิ่มขึ้น

ธุรกิจอาหารสัตว์ในไทยเน้นผลิตและจำหน่ายในประเทศ เนื่องจากไทยมีโรงงานอาหารสัตว์เอง แต่ระยะหลังมีการส่งออกมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายการเพาะเลี้ยง ที่ทั้งป้อนตลาดบริโภคในประเทศที่ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น และการทำการเกษตรแบบพันธสัญญา (contract farming) ที่นักลงทุนต่างชาติรวมทั้งไทย มีแนวโน้มเข้าไปลงทุนในประเทศอาเซียนมากขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกอาหารสัตว์คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 6 ของการผลิตทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนค่อนข้างน้อย โดยตลาดการส่งออกอาหารสัตว์ของไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์รายย่อย ในขณะที่ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ในอาเซียนส่วนใหญ่ จะมีธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ของตนเองควบคู่ไปด้วย ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ออกไปลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในอาเซียนส่วนใหญ่ก็มีธุรกิจผลิตอาหารสัตว์นี้ด้วยเช่นกัน โดยรายได้ในต่างประเทศของธุรกิจอาหารสัตว์ไทย ส่วนใหญ่มาจากการออกไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตในต่างประเทศ ซึ่งโดยมากแล้วมักเป็นการผลิตเพื่อป้อนอุตสาหกรรมต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทตนเองในลักษณะธุรกิจการเกษตรแบบครบวงจร (โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และโรงงานแปรรูป)
ปัจจุบันการส่งออกอาหารสัตว์เน้นตลาดส่งออกในอาเซียนมากขึ้น ซึ่งตลาดอาเซียนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 74.7 ของมูลค่าตลาดอาหารสัตว์ทั้งหมดของไทยในปี 2554 โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 พบว่า มีมูลค่าส่งออกอาหารสัตว์ไปยังกลุ่มอาเซียนสูงถึง 93.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3 จากช่วงเดียวกันในปี 2554 ที่มีมูลค่า 72.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาข้อมูลที่ผ่านมาในช่วงปี 2545-2554 มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์ไปยังอาเซียนมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13.9 ต่อปี โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV อันประกอบด้วยประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 18.8 ต่อปี โดยมีปัจจัยบวกคือ กลุ่มประเทศในอาเซียนมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้น ตลอดจนมีการขยายการเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศ ทำให้ความต้องการอาหารสัตว์ขยายตัว และส่งผลต่อการค้าและการลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ตลาดอาเซียนจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับการส่งออกอาหารสัตว์ในปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาหารสัตว์มีวัตถุดิบที่เป็นผลผลิตทางการเกษตรเป็นสำคัญ และผลผลิตทางการเกษตรบางชนิดประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศไทยขยายฐานการผลิตโดยหันไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ตลอดจนการเพาะเลี้ยงภาคปศุสัตว์แบบครบวงจรในแถบอาเซียนมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเหล่านั้น และเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อรองรับอุปสงค์อาหารสัตว์ที่จะเกิดเพิ่มขึ้นจากการเปิดเสรีการค้า-การลงทุนในอาเซียนในปี 2558 และเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยลบต่างๆ ภายในประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารสัตว์ของไทย ซึ่งประเทศไทยยังมีศักยภาพในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตธุรกิจอาหารสัตว์ไทยจะเน้นเข้าไปลงทุนในต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงขึ้น ปัจจุบันจากการวิเคราะห์สัดส่วนรายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารสัตว์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พบว่า โครงสร้างรายได้มาจากรายได้จากบริษัทลูกในต่างประเทศประมาณร้อยละ 25
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าประเทศในอาเซียนที่มีความน่าสนใจในการลงทุนโดดเด่นที่สุด คือ กัมพูชา เพราะมีการขยายการเลี้ยงสัตว์อย่างมากเนื่องจากนโยบายต้องการลดการนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศ และเป็นโอกาสที่ไทยสามารถทำตลาดปศุสัตว์จากความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ เนื่องจากฟาร์มปศุสัตว์ในกัมพูชาเป็นแบบครัวเรือนไม่ใช่ฟาร์มขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รองมาคือเวียดนาม เนื่องจากอุปสงค์เนื้อสัตว์สูงโดยเฉพาะในเนื้อสุกร และขณะเดียวกันลาวก็มีแหล่งวัตถุดิบจำนวนมาก
สำหรับทิศทางการส่งออกอาหารสัตว์ในตลาดอาเซียน ยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยบวกในแต่ละประเทศของกลุ่มอาเซียน เช่น
 พม่า : แรงจูงใจด้านค่าจ้างแรงงาน และความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นตลาดที่ไทยมีโอกาสลงทุนสร้างโรงงานอาหารสัตว์และฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบครบวงจร เนื่องจากมีแรงงานและวัตถุดิบรองรับ และการพัฒนาภาคปศุสัตว์ยังไม่ดีเท่าที่ควร
 มาเลเซีย : แนวโน้มความเป็นเมืองสูง พฤติกรรมการบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้น
 อินโดนีเซีย : จำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเศรษฐกิจมีการเติบโตสูง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 การส่งออกอาหารสัตว์ยังคงขยายตัว โดยเน้นไปทางตลาดอาเซียนเป็นหลักโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้มีอุปสงค์เนื้อสัตว์รองรับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ธุรกิจอาหารสัตว์เติบโตค่อนข้างดี แม้เผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โรคระบาดในสัตว์ ตลอดจนวิกฤติพลังงาน ทั้งนี้ คาดว่าตลอดทั้งปี 2555 มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์จะขยายตัวร้อยละ 15-20 หรือคิดเป็นมูลค่า 250-270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในด้านการลงทุน คาดว่าผู้ประกอบการไทยรายใหญ่มีแผนที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เช่น แผนในการตั้งโรงงานอาหารสัตว์ ฟาร์มพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ในประเทศกัมพูชา พม่า ลาว อินโดนีเซีย เป็นต้น
แม้ว่าสัญญาณการเติบโตของธุรกิจอาหารสัตว์ยังคงมีแนวโน้มที่ดี และมีแผนการลงทุนของผู้ประกอบการในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น ผู้ประกอบการควรระวังปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการใช้อาหารสัตว์ และจะส่งผลต่อภาพรวมในการเติบโตของธุรกิจอาหารสัตว์ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะต้องระมัดระวัง และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ มีดังนี้

ไทยยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์บางประเภท เนื่องจากไทยผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง ซึ่งถ้าหากไทยประสบปัญหาด้านการส่งมอบผลผลิตทางการเกษตรจากการทำการเกษตรแบบพันธสัญญา (Contract Farming) กับประเทศคู่ค้าแล้ว อาจส่งผลต่อการผลิตและการส่งออกอาหารสัตว์ไทย
ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีความผันผวนขึ้นกับสภาพดินฟ้าอากาศ อันจะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการอาหารสัตว์และราคาเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้น เช่น การเกิดวิกฤติภัยแล้งในสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อราคาข้าวโพดและถั่วเหลืองซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบหลักของอาหารสัตว์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 โดยปัจจุบันราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 และราคาถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถั่วเหลืองและข้าวโพดรายใหญ่ของโลก

แนวโน้มการแข่งขันที่สูงขึ้น จากการที่มีบริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เช่น เวียดนาม มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของจีนอยู่มาก และการเกิดกลุ่มชนใหม่จากการย้ายถิ่นของแรงงานในอาเซียน เช่น การเพิ่มขึ้นของผู้บริหารสัญชาติสิงคโปร์ในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา
การแย่งชิงทรัพยากรวัตถุดิบ มีการแย่งชิงพื้นที่และผลผลิตระหว่างภาคอาหารและพลังงาน จากแนวโน้มการนำมันสำปะหลังไปผลิตเอทาทอลมากขึ้น
โรคระบาดสัตว์ เช่น ไข้หวัดนก (Bird Flu) ,โรคปากและเท้าเปื่อย (FMD), โรคไข้หวัดสุกร(PRRS) โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องอาศัยเทคโนโลยีในการทำฟาร์มให้มีมาตรฐานมากขึ้น เช่น ระบบปิด
กฎหมายในแต่ละประเทศ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การปฎิบัติต่อคนต่างชาติ และนโยบายในแต่ละประเทศ เช่น พม่า ไม่ต้องการให้ผลิตสินค้าแล้วส่งออก แต่ให้ผลิตแล้วขายในประเทศ ตลอดจนความไม่พร้อมด้านสาธารณูปโภค เช่น ระบบโลจิสติกส์ ไฟฟ้า-น้ำประปา
กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากไม่มีปัจจัยใดที่มากระทบต่อภาพรวมของธุรกิจอาหารสัตว์อย่างรุนแรง หรืออยู่ภายใต้ความสามารถในการบริหารจัดการทางด้านราคาวัตถุดิบของผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ ก็เชื่อว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยหนุนทางด้านความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ภายในประเทศและต่างประเทศ ที่จะช่วยหนุนความต้องการใช้อาหารสัตว์ในปี 2555 คาดว่าปริมาณ 15.0-15.5 ล้านตัน ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.0-8.0 และมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2548-2554 ที่ร้อยละ 5.4 โดยเป็นการใช้วัตถุดิบหลักคือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอาหารสัตว์ที่ใช้เป็นการใช้ไปในไก่เนื้อและไก่ไข่เป็นหลัก
สำหรับด้านการส่งออกอาหารสัตว์ในช่วงครึ่งปีหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์ยังคงขยายตัว โดยเน้นไปทางตลาดอาเซียนเป็นหลักโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เนื่องจากประเทศในกลุ่มนี้มีอุปสงค์เนื้อสัตว์รองรับอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าตลอดทั้งปี 2555 มูลค่าการส่งออกอาหารสัตว์จะขยายตัวร้อยละ 15-20 หรือคิดเป็นมูลค่า 250-270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในด้านการลงทุน คาดว่าผู้ประกอบการไทยรายใหญ่มีแผนที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
ประเด็นที่น่าจับตามองสำหรับธุรกิจอาหารสัตว์ในระยะต่อไป
 ความต้องการบริโภคอาหารที่หลากหลาย ไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ เน้นความสะดวก ทันสมัย จะหนุนการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น  ตลอดจนประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การขยายความเป็นเมือง
 ในระยะยาววัตถุดิบมีแนวโน้มตึงตัวและราคาสูงขึ้น
 การแย่งชิงพื้นที่และผลผลิตระหว่างภาคอาหารและพลังงาน
 ปัญหาโลกร้อนและความแปรปรวนของสภาพอาหาร จะส่งผลให้อุปทานผลผลิตมีความผันผวน
 R&D และการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรและการผลิต มีผลต่อการแข่งขันในธุรกิจ
 ยังต้องติดตามประเด็น EU GSP และ NTMs ต่างๆ เช่น สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และแรงงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น